ตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนนอกจากจะเป็นตลาดแรงงานราคาถูกของโลกแล้ว ยังเป็นประเทศหลักที่ประเทศต่างๆส่ง recycle waste ตลอดเวลาอีกด้วย แต่ภายหลังจากจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภท ในช่วงต้นปี2561 แน่นอนว่ารวมทั้งพลาสติกและกระดาษซึ่งเป็นขยะหลัก ส่งผลให้รัฐบาลรวมทั้งบริษัทจำนวนมาก ต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากจีนเองก็มีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นจนแทบจะรับมือไม่ไหวอยู่แล้ว แต่การจะหาประเทศอื่นเพื่อมาแทนจีน จัดเป็นเรื่องยาก เนื่องจากความสามารถในการจัดการขยะของจีนมีคุณภาพสูงกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้การพัฒนาความสามารถดังกล่าวใช้ทั้งเวลาและต้นทุนมาก ดังนั้นในช่วงเวลานี้ ประเทศทั้งหลาย ที่เคยส่งขยะไปกำจัดกำลังพบกับปัญหาทางมลภาวะสูงขึ้น นโยบายระงับการนำเข้าขยะ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ที่เคยส่งออกขยะไปยังจีน ต้องหาทางจัดการกับขยะด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลาย หรือฝังกลบ ซึ่งเสี่ยงต่อมลภาวะที่จะตามมา
ทางภาคธุรกิจของจีนเอง ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยนาย Zheng Min ผู้ประกอบอาชีพข้าราชการท้องถิ่นของจีนในเขต Shangdong ได้ให้ข้อมูลว่าโรงงานต่างๆ ที่จัดการเกี่ยวกับการ Recycle พลาสติกซึ่งนำมาจากประเทศตะวันตกเช่น ประเทศอังกฤษ ล้วนหยุดดำเนินงาน พร้อมส่งผลกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ต่อกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คิดเป็นมูลค่าหลายล้านหยวน จากนโยบายนี้จะทำให้ราคาขยะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปริมาณการผลิตและอัตราการจ้างงานในหลายๆภาคส่วนที่กล่าวมา ส่งผลให้โรงงานในจีนหลายต่อหลายโรงงานทำการลดจำนวนพนักงานหรือปิดตัวลงแล้ว
เมื่อย้อนไปดูข้อมูลในปีค.ศ. 2015 พบว่าจีนนำเข้าขยะกว่า 49.6ล้านตัน ส่วนในค.ศ.2016 จีนนำเข้าขยะพลาสติกมากกว่า 7 ล้านตัน จัดสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าตลาดขยะพลาสติกหมุนเวียนทั้งหมด และสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของจีน จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าขยะพลาสติกกว่าร้อยละ 85 ของสหภาพยุโรปส่งไปจีน จากประเทศไอร์แลนด์ซึ่งมีขยะส่งไปจีนมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของขยะภายในประเทศ ในปีค.ศ. 2016 ส่วนทางพี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ ก็ส่งขยะกว่า 5.2พันล้านเหรียญสหรัฐไปจีน จากข้อมูลในปีค.ศ. 2016
สรุปแล้ว การลดจำนวนขยะนำเข้า ย่อมทำให้อุตสาหกรรมของจีนต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะภายในประเทศ ให้มีศักยภาพสูงขึ้น และจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ย่อมส่งผลให้ประเทศอื่นๆ เริ่มการปรับตัวตามไปด้วย อย่างทางสหภาพยุโรปก็ลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น ลดปริมาณของแก้วกาแฟ รวมทั้งเล็งให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดภายในปีค.ศ. 2030